ชมรมช่างซ่อมโน๊ตบุ๊ค แหล่งรวมความรู้ งานซ่อมโน๊ตบุ๊ค โหลดไบออส โหลดวงจร เรียนซ่อมโน๊ตบุ๊ค สอนซ่อมโน๊ตบุ๊ค

 ลืมรหัสผ่าน
 สมัครสมาชิก
ค้นหา
ดู: 3013|ตอบกลับ: 1

[อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์] 10 ไมโครโฟนและลำโพง

[คัดลอกลิงก์]




สาระสำคัญ
:::  ไมโครโฟนและลำโพง เป็นอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในระบบงานเครื่องเสียง ซึ่งมีจุดประสงค์ในการขยายเสียง และเก็บข้อมูลเสียง เพื่อการเผยแพร่และนำกลับมาใช้ โดยไมโครโฟนจะใช้จัดเก็บเสียง ให้อยู่ในลักษณะสัญญานทางไฟฟ้า และลำโพง จะเป็นตัวแปลงสัญญาณทางไฟฟ้า ให้กลับมาเป็นคลื่นเสียงให้เราได้ยินอีกครั้ง
จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
  • อธิบายหน้าที่ของไมโครโฟนและลำโพงได้
  • บอกชนิดของไมโครโฟนและลำโพงได้
  • อธิบายหลักการทำงานของไมโครโฟนและลำโพงได้
  • สามารถเลือกใช้งานไมโครโฟนและลำโพงได้อย่างถูกต้อง
  • สามารถตรวจสอบไมโครโฟนและลำโพงได้
  • บอกข้อควรระวังในการใช้งานไมโครโฟนและลำโพงได้
ไมโครโฟน (Microphone)
ด้วยความพยายามของมนุษย์ที่ต้องการจัดเก็บเสียงพูด เสียงร้อง และเสียงดนตรี เพื่อนำมาใช้อีกครั้ง  จึงมีการผลิตอุปกรณ์ที่เรียกว่าไมโครโฟน (Microphone) ขึ้นมา เพื่อแปลงคลื่นเสียง ให้เป็นสัญญาณทางไฟฟ้าซึ่งสามารถจัดเก็บลงในสื่อบันทึกเสียง เช่น เทป, แผ่นเสียงหรือ ซีดี รวมไปถึงใช้ในการขยายสัญญาณเสียง

ชนิดของไมโครโฟน
ไมโครโฟนที่นิยมใช้กันในปัจจุบันมีดังนี้
  • ไมโครโฟนแบบไดนามิกมูฟวิ่งคอล์ย (Dynamic Movie Coil Microphone) หรือที่เรียกสั้นๆว่าไดนามิกไมโครโฟน เป็นไมโครโฟนที่ใช้หลักการของการเคลื่อนที่ของขดลวดตามเสียงที่มากระทบ และเมื่อขดลวดตัดผ่านสนามแม่เหล็กถาวร ก็จะเกิดเป็นแรงเคลื่อนไฟฟ้าตามคลื่นเสียงนั้น ไมโครโฟนชนิดนี้เป็นที่นิยมแพร่หลาย ครอบคลุมการใช้งานเกือบ
    ทุกประเภท เพราะสามารถรับเสียงในย่านกว้างทั้งความถี่ต่ำและความถี่สูงได้
  • ไมโครโฟนแบบคอนเดนเซอร์ (Condenser Microphone) เป็นไมโครโฟนที่ออกแบบโดยใช้หลักการเปลี่ยนแปลงค่าความจุ ตามเสียงที่มากระทบแผ่นฉนวนที่อยู่ระหว่างแผ่นเพลทสองแผ่น โดยส่วนใหญ่ไมโครโฟนประเภทนี้จะต้องมีแหล่งจ่ายไฟเลี้ยงเช่น ถ่านไฟฉายอยู่ด้วย สามารถตอบสนองความถี่สูงได้ดีมาก
  • ไมโครโฟนแบบไร้สาย (Wireless Microphone) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ไมค์ลอย “ ซึ่งความจริงก็คือไมโครโฟน 2 แบบแรก เพียงแต่เพิ่มวงจรเครื่องส่งให้สามารถส่งสัญญาณออกมาเป็นคลื่นวิทยุได้นั่นเอง
หลักการทำงาน
  • การทำงานของไมโครโฟนแบบไดนามิก
ไมโครโฟนแบบไดนามิก จะประกอบด้วยขดลวดพันอยู่บนฟอร์มพลาสติกทรงกระบอกที่ยึดติดกับแผ่นไดอะแฟรมบางๆ  แล้วสวมลงในช่องว่างระหว่างแม่เหล็กถาวร  เมื่อมีคลื่นเสียงมากระทบแผ่นไดอะแฟรม  แผ่นไดอะแฟรมที่เป็นพลาสติกหรือแผ่นอลูมิเนียมบาง ๆ ก็จะมีการอัดและคลายตัวตามคลื่นเสียง ทำให้ขดลวดเคลื่อนที่เข้าออกตามไปด้วย  ซึ่งขดลวดก็จะตัดกับสนามแม่เหล็กถาวร ทำให้เกิดแรงดันไฟฟ้าออกมาที่ขดลวด ตามคลื่นเสียงที่เข้ามากระทบ
  • การทำงานของไมโครโฟนแบบคอนเดนเซอร์
ไมโครโฟนชนิดนี้ ส่วนใหญ่จะใช้แผ่นไดอะแฟรมที่เป็นโลหะบางๆ  การทำงานจะใช้หลักการของตัวเก็บประจุ  คือเมื่อมีคลื่นเสียงเข้ามากระทบแผ่นไดอะแฟรมทำให้แผ่นไดอะแฟรมมีการเคลื่อนที่เข้าออก ทำให้ระยะห่างระหว่างแผ่นเพลทเปลี่ยนแปลง เป็นผลให้ค่าความจุของไมโครโฟนเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย  เมื่อต่อเข้ากับตัวต้านทานและแบตเตอรี่ภายนอก ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแรงดันไฟฟ้าที่ตกคร่อมตัวต้านทานตามไปด้วย
ไมโครโฟนประเภทนี้มักจะมีช่องใส่แบตเตอรี่  และมีวงจรขยายสัญญาณอยู่ภายในตัวไมโครโฟน  เพื่อความสะดวกต่อการใช้งาน และลดสัญญาณรบกวน  แต่ถ้าเป็นไมโครโฟนราคาถูก ๆ ที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ มักจะใช้ไฟเลี้ยงและวงจรขยายสัญญาณจากภายในเครื่อง
  • การทำงานของไมโครโฟนแบบไร้สาย
จะเป็นการรวมหัวไมโครโฟน วงจรขยายสัญญาณจากไมโครโฟน หรือปรีไมโครโฟน และวงจรส่งสัญญาณคลื่นวิทยุไว้ภายในตัวไมโครโฟน  เพื่อส่งสัญญาณไปยังภาครับที่ต่อไปยังเครื่องขยายเสียงได้โดยไม่ต้องใช้สาย
การเลือกใช้งาน
ปกติไมโครโฟนจะมีหลายราคาตามคุณภาพ มีราคาตั้งแต่ 50-60 บาท จนถึงหลักหมื่นบาท  โดยแตกต่างกันที่ คุณภาพการตอบสนองความถี่เสียง และความไวในการรับ นอกจากนั้นการเลือกใช้ก็ยังพิจารณากันที่ขนาดความเหมาะสมและวัสดุที่ใช้ทำด้วย เช่นในงานบรรยาย ที่ต้องการความคล่องตัว อาจใช้ไมโครโฟนแบบไร้สาย หรือไมโครโฟนที่มีน้ำหนักเบา งานแสดงสดบนเวทีและงานบันทึกเสียง อาจต้องการไมโครโฟนที่มีคุณภาพเสียงที่ดี  แต่หากใช้ในงานสนามที่ไม่ต้องการคุณภาพเสียงมากเท่าไร เราก็สามารถเลือกใช้ไมโครโฟนราคาถูกได้ นอกจากนี้ในกรณีของไมโครโฟนแบบไดนามิก ยังพิจารณาถึงขนาดอิมพีแดนซ์ของไมโครโฟนด้วย ถ้าใช้สายต่อยาวมาก ๆ ควรใช้ไมโครโฟนที่มีอิมพีแดนซ์ต่ำ เพราะสามารถลดสัญญานรบกวนได้ดีกว่าไมโครโฟนอิมพีแดนซ์สูง   และถ้าเป็นไมโครโฟนที่มีคุณภาพเรายังพิจารณาถึง รูปแบบการรับคลื่นเสียงจากข้อมูลรายละเอียดคุณสมบัติต่างๆ ส่วนใหญ่มี ด้วยกัน 2 รูปแบบคือ
1. แบบรับเสียงรอบทิศทาง (Omni Direction)
มักจะเป็นรูปแบบของไมโครโฟนที่ใช้กันทั่วไป โดยเฉพาะไมโครโฟนคอนเดนเซอร์   โดยแบบนี้จะเหมาะสำหรับการบันทึกเสียง เพราะมีการตอบสนองความถี่กว้าง แต่มีโอกาสที่จะเกิดเสียงหอนได้ง่าย  การติดตั้งจึงควรพิจารณาเป็นพิเศษ และการใช้งานไม่ควรพูดห่างไมโครโฟนมากนัก
2. แบบรับเสียงเฉพาะด้านหน้าไมโครโฟน (Cardioid Direction)
เป็นไมโครโฟนที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ สามารถรับเสียงที่ห่างไมโครโฟน โดยไม่มีปัญหาเสียงรบกวน
การตรวจสอบ
วิธีการตรวจสอบไมโครโฟนแบบไดนามิก อาจกระทำโดยการใช้ ถ่านไฟฉาย  หรือ
มัลติมิเตอร์ ตั้งวัดความต้านทาน ย่าน  R X 1   แล้วเขี่ยที่แจ็กไมโครโฟน (ไม่ควรต่อค้างไว้นานๆ เพราะขดลวดของไมโครโฟนอาจไหม้ได้)  ถ้ามิเตอร์ขึ้นแสดงว่าใช้งานได้  ถ้าไม่ขึ้นให้ลองถอดแจ็กออกมาแล้วตรวจสอบว่าสายที่ต่อกับแจ็กขาดหรือไม่ ถ้าไม่ขาด ก็อาจตรวจตรงหัวของไมโครโฟนเลย โดยถอดหัวออกมา แล้วใช้มิเตอร์วัดดังกล่าว ถ้าใช้ได้แสดงว่าสายไมโครโฟนอาจจะขาด (ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีนี้มากที่สุด)

สำหรับไมโครโฟนคอนเดนเซอร์อาจตรวจสอบได้ยาก ให้ตรวจสอบแรงดันไฟของแบตเตอรี่  หรือตรวจดูกระบะถ่านว่าเป็นสนิมหรือเปล่า
การติดตั้งและการต่อใช้งาน
ส่วนใหญ่การต่อใช้งานไมโครโฟนกับเครื่องเสียง สามารถกระทำได้ง่าย ๆ เพียงแต่เสียบเข้ากับช่องเสียบแจ็คที่มีคำว่า MIC ของเครื่องเสียง แต่ถ้าเป็นแจ็คคนละขนาด อาจแก้ปัญหาโดยการใช้ตัวแปลงขนาดแจ็กมาใช้ ซึ่งจะมีทั้งแบบแปลงจากแจ็คขนาดใหญ่เป็นขนาดเล็ก และ แปลงจากขนาดเล็กเป็นขนาดใหญ่

สำหรับการติดตั้งต้องพิจารณาถึงตำแหน่งของมุม และผลของการสะท้อนของเสียงด้วย  เพราะอาจจะทำให้เสียงไม่เรียบ หรือ เกิดเสียงหอนได้
โดยถ้าหากพื้นหรือผนังด้านหลังเป็นแผ่นเรียบอาจทำให้มีแหล่งสัญญาณเสียงมากกว่าหนึ่งแห่ง คือ นอกจากแหล่งเสียงจริงแล้ว ยังมีคลื่นเสียงที่เกิดจากการสะท้อนเข้ามาในไมโครโฟนด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดเสียงก้อง และเสียงหอนได้  การแก้ไขอาจใช้วิธีจัดวัสดุซับเสียง เช่น ม่านหรือพรมเข้ามาช่วย  หรือใช้ไมโครโฟนที่มีรูปแบบการรับเสียงเฉพาะด้านหน้าเข้ามาช่วยแก้ปัญหา
วิธีใช้และดูแลรักษาไมโครโฟน
  • เลือกไมโครโฟนชนิดที่เหมาะสมงาน โดยพิจารณาในเรื่องทิศทางการรับเสียง และชนิดของไมโครโฟน
  • ควรพูดห่างจากไมโครโฟนประมาณ 4 -12 นิ้ว เพื่อลดการเกิดเสียง "ฮัม" และเสียงลมหายใจ
  • อย่าเคาะหรือเป่าไมโครโฟนเพราะอาจทำให้ขดลวดไมโครโฟนขาดหรือชำรุดได้
  • ระวังอย่าให้ตกหล่นจากที่สูงหรือถูกน้ำ
  • อย่าวางสายไมโครโฟนใกล้กับสายไฟฟ้าเพราะเกิดเสียงรบกวนจากความถี่ไฟฟ้าได้
  • อย่าหันส่วนหน้าของไมโครโฟนเข้าหาลำโพง หรืออยู่ใกล้ลำโพงเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดเสียงหวีดหรือเสียงหอนได้ เนื่องจากมีการสะท้อนของเสียงย้อนกลับมา ดังนั้น จึงควรเบี่ยงไมโครโฟนให้ห่างจากหน้าลำโพง ถ้าเกิดเสียงรบกวนอีก ให้ปิดสวิตช์ที่ไมโครโฟนแล้วลดระดับความดังของเครื่องเสียงลง จากนั้นจึงค่อย ๆ เร่งเสียงให้ดังขึ้นมาจนถึงระดับที่ต้องการ
ลำโพง (Loudspeaker)
เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แปลงสัญญาณทางไฟฟ้า ให้กลับมาเป็นคลื่นเสียงให้เราได้ยิน
ชนิดของลำโพง
ลำโพงที่เรามักพบเห็นกันทั่วไปมี 2 แบบคือ
1. ลำโพงแบบตู้ปิด จะเป็นลำโพงที่ใช้ตามบ้าน โดยภายในจะประกอบด้วยตัวลำโพง หลายตัว โดยแต่ละตัว จะมีความสามารถ ในการตอบสนองความถี่ต่างๆกันคือ
  • ลำโพงเสียงทุ้ม (Woofer) หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า “วูฟเฟอร์” มักจะมีขนาดใหญ่ ตอบสนองความถี่ต่ำได้ดี เช่น เสียงกลอง
  • ลำโพงเสียงกลาง (Midrange) จะตอบสนองเสียงกลาง เช่น เสียงพูด ,เสียงร้อง โดยจะมีขนาดรองลงมา จากลำโพงวูฟเฟอร์
  • ลำโพงเสียงแหลม (Tweeter) มักเรียกทับศัพท์ว่า “ทวีตเตอร์ “ จะมีขนาดเล็ก ตอบสนองความถี่สูงได้ดี
ลำโพงบางตู้ จะมีเพียงเสียงทุ้มกับเสียงแหลม เรียกว่าลำโพง 2 ทาง ตู้ลำโพงบางตู้อาจจะมีลำโพงตัวเดียว หรือต่อร่วมกันหลายดอก ส่วนใหญ่จะเป็นลำโพงแบบตอบสนองความถี่ย่านกว้าง หรือที่เรียกว่าลำโพงฟูลเร็นจ์ (Full Range Speaker) สำหรับตู้ลำโพงแบบที่มีตัวลำโพงหลายความถี่ ส่วนใหญ่มักจะมีแผ่นวงจรแยกความถี่ หรือที่เรียกว่า ครอสโอเวอร์เน็ตเวอร์ค (Cross Over Network) เป็นตัวแบ่งความถี่ให้กับลำโพงแต่ละตัว แต่ถ้าเป็นตู้ลำโพงราคาถูกอาจมีเพียงตัวเก็บประจุ คั่นระหว่างขั้วต่อสายกับลำโพงเสียงแหลมเท่านั้น
2. ลำโพงฮอร์น (Horn) ส่วนใหญ่มักใช้กับงานกระจายเสียงกลางแจ้ง เพราะเป็นลำโพงที่มีประสิทธิภาพสูง แต่คุณภาพเสียงไม่ค่อยดีนัก โดยด้านหลังจะมีตัวขับเสียงซึ่งสามารถถอดเปลี่ยนได้ มักเรียก
ทับศัพท์ว่า “ยูนิตฮอร์น”  (Unit Horn)
หลักการทำงาน
ลำโพงแบบตู้ปิดส่วนใหญ่ จะเป็นลำโพงแบบ ไดนามิกมูฟวิ่งคอล์ย (Dynamic Moving Coil) โดยจะมีโครงสร้างดังนี้
  • ขอบลำโพง จะมีลักษณะเป็นลอน มีทั้งแบบขอบกระดาษ,ขอบยาง หรือขอบที่ทำจากพลาสติกโพลีเมอร์ ขอบลำโพง มีหน้าที่ในการยึดกรวยลำโพงเข้ากับเฟรม
  • กรวยลำโพง (Cone) ส่วนใหญ่มักทำด้วยกระดาษอาจจะมีบางบริษัททำด้วยสารพลาสติก กรวยลำโพงจะยึดติดกับขดลวดเสียง (Voice Coil) โดยจะมีการเคลื่อนตัวเข้าออกตามขดลวดทำให้เกิดเป็นคลื่นเสียงออกมา
  • แผ่นเพลทด้านบน (Top Plate) เป็นโลหะที่แม่เหล็กไม่ดูดใช้กั้นด้านบน เพื่อกันเส้นแรง
    แม่เหล็กให้อยู่ภายในช่องว่าง (Gap) ภายในลำโพงไม่ให้เล็ดลอดออกมาด้านนอก
  • แผ่นเพลทส่วนกลาง (Pole Piece) ทำหน้าที่เช่นเดียวกัน คือ กันไม่ให้สนามแม่เหล็กกระจายออกมา ทำให้สนามแม่เหล็กรวมตัวกันอยู่ภายในช่องว่างที่สอดขดลวดเสียง
  • แท่งแม่เหล็ก (Magnet) อาจทำเป็น แม่เหล็กอัลนิโค (Alnico Magnet) ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างอะลูมิเนียม กับ โคบอลท์ หรือแบบ แม่เหล็กเฟอร์ไรท์ (Ferrite) สร้างสนามแม่เหล็กภายในลำโพง ส่วนใหญ่ลำโพงที่มีราคาแพงมักใช้แม่เหล็กอัลนิโคขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดสนามแม่เหล็กปริมาณมากๆภายในช่องว่าง
  • โครงเหล็ก (Frame) ก็คือส่วนที่เป็นโครงโลหะของลำโพงนั่นเอง
  • ขดลวดเสียง (Voice Coil) หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า “วอยซ์คอล์ย” คือขดลวดที่วางในช่องแคบ ๆ(Gap) ภายในลำโพง และยึดติดกับกรวยลำโพง ส่วนปลายทั้งสองข้างเชื่อมกับขั้วต่อด้านนอกที่จะไปต่อกับเครื่องขยายเสียง
  • สไปเดอร์ (Spider) มีลักษณะเป็นลอนอยู่ด้านหลังของกรวยลำโพง โดยทำหน้าที่เหมือนสปริง เพื่อช่วยให้เกิดการยืดหยุ่นในการคืนตัวกลับของกรวยลำโพง
การทำงานเป็นดังนี้คือ  เมื่อมีสัญญาณเสียงจากเครื่องขยายเสียงเข้ามาที่ขั้วลำโพง จะทำให้เกิดกระแสไหลผ่านขดลวดเสียง ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กที่ขดลวด ซึ่งจะทำการต้านและเสริมเส้นแรงกับสนามแม่เหล็กถาวรจากแท่งแม่เหล็ก จึงเกิดการดูดและผลักตามสัญญาณเสียงที่เข้ามา
กรวยของลำโพงที่ยึดติดกับขดลวดเสียง ก็จะมีการเคลื่อนตัวเข้าและออกเป็นจังหวะตามสัญญาณเสียงผลักดันอากาศ ทำให้เกิดคลื่นเสียงออกมาให้เราได้ยิน
การเลือกใช้งาน
การเลือกใช้ลำโพงเราจะพิจารณาจากความต้องการของคุณภาพเสียงและสถานที่ติดตั้งเช่นในกรณีติดตั้งกลางแจ้ง การกระจายเสียง ข้อมูลข่าวสารของหอกระจายข่าวตามชนบท มักไม่คำนึงคุณภาพเสียง เราจะใช้ลำโพงฮอร์นมากกว่าลำโพงตู้ เพราะมีความทนทานและ
มีประสิทธิภาพสูง แต่ถ้าเป็นงานที่ต้องการคุณภาพเสียง หรือติดตั้งภายในห้อง ส่วนใหญ่ควรใช้ลำโพงตู้เพราะให้เสียงที่ดีกว่า  สำหรับการเลือกตัวลำโพงของลำโพงตู้นั้น ถ้าเราต้องการใช้เปิดเพลงเบา ๆ เรามักใช้ตัวลำโพงที่มีขอบเป็นยาง หรือโพลีเมอร์เพราะยืดหยุ่นได้มาก  แต่ถ้าใช้กับการพูดผ่านไมโครโฟน มักใช้ขอบที่เป็นกระดาษซึ่งยืดหยุ่นได้น้อยกว่า ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องขอบลำโพงขาด เนื่องจากการกระแทกของเสียงพูด
การตรวจสอบ
วิธีการตรวจสอบลำโพงแบบไดนามิกมูฟวิ่งคอล์ย ว่าดีหรือเสีย อาจทำการตรวจสอบเช่นเดียวกับไมโครโฟน คือใช้ มัลติมิเตอร์ ตั้งย่านวัด X  1   แล้วเขี่ยที่ขั้วลำโพง ถ้าเข็มมิเตอร์ขึ้นและได้ยินเสียง แคร็ก ๆ ที่ลำโพงแสดงว่าใช้ได้   แต่ถ้าหากเป็นการเสียทางกล เช่นขอบขาดหรือขดลวดเสียงบิด ขูดกับช่องว่างภายในลำโพง การตรวจสอบทำได้เฉพาะต้องต่อเข้ากับเครื่องขยายเพื่อทดสอบเท่านั้น
การตรวจสอบอีกลักษณะหนึ่ง คือการตรวจสอบหาขั้วหรือเฟสของลำโพง   โดยปกติที่ขั้วต่อลำโพงจะมี การคาดสีแดง-ดำ  หรือแสดงเป็น บวก-ลบ  เพื่อให้ต่อกับขั้วเครื่องขยายเสียงได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าขั้วลบเลือน เราสามารถตรวจหาขั้วได้โดยมัลติมิเตอร์ ตั้งย่านวัด X  1   แล้วเขี่ยที่ขั้วลำโพง จากนั้นสังเกตว่าถ้าขั้วต่อถูกต้องในช่วงต่อกับมิเตอร์ กรวยลำโพงจะต้องกระพือออกมา และการกำหนดขั้วคือ ขั้วบวกจะต่อกับสายวัดสีดำ และ ขั้วลบ จะต่อกับสายวัดสีแดง (เพราะปกติมัลติมิเตอร์ทั่วไปที่ใช้กัน   มักต่อแบตเตอรี่ภายในกลับขั้วกับขั้วต่อสายมิเตอร์) หรือถ้าไม่มีมิเตอร์ เราอาจใช้ถ่านไฟฉายต่อทดสอบก็ได้  โดยถ้าต่อถูกต้องตามขั้ว กรวยลำโพงจะผลักตัวออก แต่ถ้าขั้วไม่ถูกต้องกรวยลำโพงจะถูกดึงเข้า
การติดตั้งและต่อใช้งาน
การต่อลำโพง ต้องดูที่ขั้วอิมพีแดนซ์ของเครื่องขยายเสียงว่ามีค่ากี่โอห์ม  จะต้องเลือกใช้หรือต่อลำโพงให้มีค่าตรงกัน  เช่นถ้าที่ขั้วต่อเครื่องเสียงเขียนว่า 8 โอห์ม ก็ควรต่อเข้ากับลำโพงที่มีขนาด 8 โอห์มเช่นเดียวกัน  เพื่อให้มีการโอนถ่ายพลังงานได้สูงสุด แต่ถ้าไม่มีลำโพง 8 โอห์ม ก็อาจใช้ลำโพง 4 โอห์ม 2 ตัวต่ออนุกรมกัน เช่นเดียวกับการต่อความต้านทานก็ได้   และในทำนองเดียวกัน ถ้าขั้วต่อที่เครื่องเสียงเขียนว่า 4 โอห์ม ก็ควรต่อเข้ากับลำโพงที่มีขนาด 4 โอห์ม ถ้ามีแต่ลำโพง 8 โอห์ม ก็อาจใช้ลำโพง 8 โอห์ม 2 ตัวต่อขนานกันแทน
ข้อสำคัญอีกประการคือ ควรเลือกใช้ลำโพงที่มีขนาดกำลังไฟฟ้าที่เหมาะสมกับเครื่องเสียง เช่นถ้าใช้เครื่องเสียงขนาด 100 วัตต์ ลำโพงที่ใช้งานก็ควรมีขนาด 100 วัตต์ ด้วยเช่นกัน (แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป เพราะว่าวัตต์ของลำโพง ไม่ได้เหมือนกับวัตต์ทนกำลังไฟฟ้า ของเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป) แต่ถ้าไม่ได้เร่งเสียงเต็มที่นักก็อาจใช้ขนาดต่ำลงมาได้  แต่ไม่ควรแตกต่างกันมากนัก เช่น จะใช้ลำโพงขนาด 10 วัตต์  กับเครื่องเสียงขนาด 100 วัตต์ คงไม่เหมาะสม สำหรับการติดตั้งลำโพง ควรหันหน้าลำโพงมายังผู้ฟัง และจัดทำมุมให้เหมาะสม เพื่อให้รัศมีของเสียงครอบคลุมผู้ฟังทั้งหมด
ข้อควรระวังในการต่อใช้งาน
1.        ควรเลือกลำโพงให้เหมาะสมกับงาน
2.        ควรใช้ลำโพงที่มีขนาดกำลังวัตต์เหมาะสมกับเครื่องขยายเสียง
3.        ควรต่อลำโพงให้มีขนาดของอิมพีแดนซ์ตรงกับค่าอิมพีแดนซ์ของเครื่องเสียง
4.        ควรต่อลำโพงให้ตรงเฟสกับขั้วเครื่องเสียง
5.        ไม่ควรใช้ลำโพงฟังเพลงที่คุณภาพดี ๆ มาใช้กับการพูดผ่านไมโครโฟนเพราะอาจทำให้ลำโพงเสียหายได้

โพสต์ 12-1-2018 12:51:39 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ขอบคุณครับ สำหรับความรู้
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | สมัครสมาชิก

รายละเอียดเครดิต

ปิด

แจ้งข่าวก่อนหน้า /1 ต่อไป

รายชื่อผู้กระทำผิด|Mobile|รูปแบบข้อความล้วน|NBFIX

GMT+7, 15-1-2025 16:35 , Processed in 0.029073 second(s), 19 queries .

Powered by Discuz! X3.4 R20180101, Rev.59

© 2001-2017 Comsenz Inc.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้